มาเตือนสติกันหน่อยครับ.........เรื่องก็มีอยู่ว่า
วันนี้เลิกงานเร็วเลยพาเจ้านุ่มไปซื้อของใช้ที่ห้างแห่งหนึ่ง รอต่อแถวจ่ายตังค์นานเลย เจ้านุ่มก็เริ่มงอแงๆ ง่วงนอน สังเกตุว่าคิวด้านหน้าเรามากันเป็นครอบครัว มีพ่อแม่ลูกสาววัยประมาณเจ้านุ่ม แล้วก็ผู้ชายสูงอายุคนหนึ่ง ที่หนูน้อยเรียกว่า"ปู่" คุยกันยิ้มแย้มแจ่มใสดี ซื้อของใช้ล้นตระกร้าเชียวครับ
พอแคชเชียร์คิดเงินของครอบครัวนี้จนเสร็จได้ยินคร่าวๆว่า "ทั้งหมดพัน(กว่าๆ)บาทครับ...." ผู้เป็น"ปู่" เป็นคนเปิดกระเป๋าสตางค์ใบเก่าๆ จะจ่ายเงิน พร้อมทำท่าอ้ำอึ้ง มีลูกชายลูกสะใภ้จ้องตาเขม็ง หุบยิ้มทันที
" ว่าไงพ่อ จ่ายเค้าไปสิ" ลูกชายบอก คุณปู่ยังทำท่าอ้ำอึ้ง
"ไหน ดูหน่อย มีตังค์เท่าไหร่" คุณปู่ยื่นกระเป๋าตังค์ให้ดูข้างใน
" อ้าว ไหนว่ามีตังค์เยอะไง แล้วแบบนี้จะชวนมาซื้อของทำไม ไม่มีตังค์จ่ายก็ไม่บอก อายเค้าจริงๆ " ลูกชายลูกสะใภ้พากันมองคุณปู่ด้วยสายตาที่เหมือนดูถูก...รำคาญ
ในที่สุดเค้าก็พากันทำสิ่งที่เราไม่อยากจะเชื่อสายตา คืออุ้มลูกเดินหนีไปเลย พร้อมกับโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่สนใจลูกสาวที่ร้องว่า "ปู่ๆๆๆ ปู่มาด้วย"
คุณปู่ยืนคอตก หน้าเศร้าอยู่หน้าแคชเชียร์ พอเด็กถามว่าจะเอายังไง คุณปู่เปิดกระเป๋าตังค์ให้เด็กดู แล้วบอกว่าให้คิดเงินตามนี้ ได้ของเท่าไหร่เท่านั้น (เด็กนับแล้วมีแปดร้อยบาทครับ)
ระหว่างรอแคชเชียร์คิดเงินใหม่ ได้ยินคุณปู่เล่าว่า แกบ้านอยู่ต่างอำเภอห่างไปเป็นร้อยกิโล ลูกหลานไม่ไปหานานแล้ว แกจึงตัดสินใจรวบรวมเงินทั้งหมดที่มีนั่งรถเข้ามาเยี่ยมลูกหลานในเมือง แล้วชวนออกมาซื้อของ ลูกแกก็ไม่ถามสักคำว่าเงินมีเท่าไหร่ หยิบของเอาๆ แกก็ไม่เคยรู้ราคาของ เพราะอยู่บ้านนอกก็ซื้อร้านของชำทีห้าบาทสิบบาท ใครจะจะรู้ว่าของในห้างใหญ่เค้าซื้อกันทีละเป็นพัน
เราจ่ายเสร็จเห็นคุณปู่ยังเดินเคว้งอยู่แถวๆนั้น ก็เลยถามแกว่าจะกลับยังไง แกบอกว่าพอขึ้นรถกลับเป็น ( อ้าว แล้วตังค์ล่ะ เมื่อกี้เห็นจ่ายไปหมดแล้วนี่นา ) แต่ก็ยังลังเลอยู่ กลัวลูกกลับมาตามหาแล้วไม่เจอ มือถือก็ไม่รู้เบอร์
เลยตัดสินใจพาคุณปู่ไปที่แผนกประชาสัมพันธ์ประกาศหาลูกครับ จากนั้นเราบอกให้รอสักพัก ถ้าลูกไม่มาจริงๆ ให้ไปขึ้นรถที่คิวรถ( ฝากเด็กที่ปชส. ว่าให้ย้ำคุณปู่อีกที) พร้อมกับให้เงินแกเป็นค่ารถไว้ครับ จริงๆอยากรอดูสักพัก แต่เจ้านุ่มไม่ไหวแล้วครับ งอแงเหลือเกิน
คุณปู่น้ำตาคลอบอกเราว่า "มันคงไม่ทิ้งปู่จริงๆหรอกนะ นี่ก็ได้ของไปเยอะเหมือนกันถึงจะซื้อได้ไม่หมดก็เถอะ นี่มันไม่เคยกลับไปหาปูเลย ก็เพราะปู่มันจน ไม่มีสมบัติอะไรให้" เราปลอบใจแกไปบอกว่าเดี๋ยวเค้าคงกลับมาน่ะ คงเดินไปดูอย่างอื่นก่อน
เดินกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเลยครับ หันหลังกลับไปมองเห็นคุณปู่ยังยืนคอตกที่เดิม ในใจคิดวนเวียนตลอดเวลา
.... นี่เค้าทำแบบนี้กับพ่อตัวเองได้ยังไงนะ ...
... พ่อไม่มีตังค์พอเนี่ย มันผิดด้วยหรือ? เค้าไม่รู้หรือไงว่า เงินเท่านี้อาจจะเป็นเงินที่คุณปู่เก็บมาทั้งชีวิตก็ได้ (คนชนบทจะไปหาเงินจากไหนอ่ะ?) ...
...แล้วเค้าจะสอนลูกให้กตัญญูต่อพ่อแม่ได้อย่างไร ก็ทำพฤติกรรมแบบนี้กับพ่อตัวเองให้ลูกเห็น....
จริงอยู่ พื้นฐานครอบครัวนี้อาจจะมีอะไรลึกซึ้งมากกว่านี้ แต่เป็นเรา เราคงไม่มีวันทอดทิ้งพ่อให้ได้รับความเจ็บปวดอับอายจากการที่ไม่มีเงินซื้อของให้ลูกหลานได้พอแบบนี้หรอก เป็นเรา เราคงบอกพ่อว่า " ไม่เป็นไรหรอกค่ะพ่อ กลับบ้านเราเถอะ"
พ่อแม่ก็แก่เฒ่า
พ่อแม่ก็แก่เฒ่า ............. จำจากเจ้าไม่อยู่นาน
จะพบจะพ้องพาน .......... เพียงเสี้ยววารของคืนวัน
ใจจริงไม่อยากจาก ......... เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน
แต่ชีพมิทนนาน ............. ย่อมร้าวรานสลายไป
ขอเถิดถ้าสงสาร ............ อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ
คนแก่ชะแรวัย ............... คิดเผลอไผลเป็นแน่นอน
ไม่รักก็ไม่ว่า ................. เพียงเมตตาช่วยอาทร
ให้กินและให้นอน .......... คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ
เมื่อยามเจ้าโกรธขึ้ง ........ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย
ร้องไห้ยามป่วยไข้ ......... ได้ใครเล่าเฝ้าปลอบโยน
เฝ้าเลี้ยงจนโตใหญ่ ........ แม้เหนื่อยกายก็ยอมทน
หวังเพียงจะได้ผล .......... เติบโตจนสง่างาม
ขอโทษถ้าทำผิด ............ ขอให้คิดทุกทุกยาม
ใจแท้มีแต่ความ ............. หวังติดตามช่วยอวยชัย
ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง............... มีหรือหวังอยู่นานได้
วันหนึ่งคงล้มไป ............. ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวง
วิธีทำดีต่อบิดามารดา
ยามหนาวห่มผ้าให้ท่าน ...............ยามร้อนพัดให้ท่านเย็น
ยามนอนดูแลนวดเฟ้น .............ยามตื่นท่านสดชื่นไหม
ถามดูอยากรับประทานอะไร ..............ต้องเลี้ยงและต้องดู
ด้วยรักและห่วงใย .................อย่ากรรโชกให้เสียใจ
เอาใจใส่ด้วยตนเอง ..................เคารพและเชื่อฟัง
เพื่อให้ท่านสบายใจ ...................อยู่ไกลก็คิดถึง
มีของฝากเมื่อกลับมา .....................ป่วยไข้รีบรักษา
มรณาทำบุญให้ ............................อุทิศไปสม่ำเสมอ
ที่มา บ้านมหา.คอม